วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ต้นทุนที่แท้จริงของพลังงานแสงอาทิตย

Created: Wednesday, 21 December 2016 16:34

          ข่าวที่อินเดียจะสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ Kamuthi ขนาด 648 เมกะวัตต์ ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก นับเป็นข่าวดีด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ แต่เบื้องหลังข่าวดีๆ ยังมีความจริงอีกด้านที่ควรรับทราบด้วยเช่นกัน


          นาย Bhanu Bhusan อดีตผู้อำนวยการ Power Grid Corporation of India Ltd และอดีตคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าของอินเดีย (Central Electricity Regulatory Commission) ได้กล่าวผ่านเว็บบล็อก The Times of India ว่า แม้พลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกลง แต่ต้นทุนที่แท้จริงของพลังงานแสงอาทิตย์ คือค่าไฟฟ้ารวมที่สูงขึ้น โดยเขาได้อ้างอิงบทความเรื่อง “At Rs 3 per unit, solar power tariff hits new low” ที่กล่าวว่าค่าไฟฟ้าที่ผลิตด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาในอินเดียมีราคาต่ำสุดอยู่ที่ 3 รูปีต่อหน่วย (1.59 บาท/หน่วย) เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ผลิตโดยโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทไฟฟ้า NTPC ของอินเดีย และไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในอนาคตจะมีราคาถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน โดยนาย Bhanu Bhusan โต้แย้งไว้ในบทความเรื่อง “The real cost of solar power” ว่า แม้จะเป็นเรื่องจริง ที่ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์กำลังถูกลง แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านที่ต้องคำนึงถึงคือพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมให้สูงขึ้น เพราะหากไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงนี้ จะทำให้เกิดการตัดสินใจในเรื่องนโยบายพลังงานไฟฟ้าที่ผิดพลาดได้
พลังงานแสงอาทิตย์ดีต่อโลก แต่เสริมความต้องการไฟฟ้าในยามที่ต้องการไม่ได้
          คุณลักษณะเฉพาะของพลังงานแสงอาทิตย์คือ สามารถผลิตไฟฟ้าได้แค่ในช่วงกลางวันเมื่อมีแสงแดด พลังงานแสงอาทิตย์จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ในช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าดั้งเดิม (Conventional Power Plant) ไม่ว่าจะมีการเพิ่มกำลังผลิตแสงอาทิตย์หรือไม่ก็ตาม
          “อันที่จริงแล้ว เราไม่ควรนับกำลังผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในฐานะกำลังผลิตที่ช่วยสนองการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการสูง”
          พลังงานแสงอาทิตย์สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าในช่วง 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น สามารถแทนที่ไฟฟ้าที่ผลิตโดยพลังงานความร้อนในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งช่วยลดปริมาณการเผาไหม้ถ่านหินและปริมาณของเถ้าที่ปล่อยจากขบวนการผลิตไฟฟ้า ลดคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปริมาณการผลิต นำเข้า ขนส่งถ่านหิน และลดการกำจัดเถ้าจากถ่านหินด้วย ทั้งหมดเป็นข้อดีในมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นเหตุผลว่าทำไมโลกจึงสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และลม
พลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้อัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนลดลง
          อย่างไรก็ตาม กำลังผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้น จะเป็นผลให้ Plant Load factor - PLF (พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงต่อความสามารถสูงสุดในการผลิตของโรงไฟฟ้า) หรืออัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนลดลง เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนต้องหยุดจ่ายไฟเข้าระบบในช่วงกลางวัน เพื่อหลีกทางให้โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์จ่ายเข้าระบบก่อน เป็นผลให้โรงไฟฟ้าความร้อนสูญเสียความมั่นคง และความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ
          เนื่องจาก ราคาค่าไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าความพร้อมจ่าย (capacity charge) และค่าผลิตพลังงาน (energy charge) โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งหมด (รวม capacity charge และ energy charge) อยู่ที่ประมาณ 3-4 รูปีต่อหน่วย (1.59-2.12 บาทต่อหน่วย) แต่ในช่วงที่ต้องหยุดจ่ายไฟ เพื่อหลีกทางให้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขายเข้าระบบ ในช่วงดังกล่าว แม้ว่า โรงไฟฟ้าจะไม่ได้รับค่า energy charge ที่แปรผันตามต้นทุนเชื้อเพลิง ประมาณ 1.50-2 รูปีต่อหน่วย (0.8-1.06 บาทต่อหน่วย) แต่ยังต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายอีกราวหน่วยละ 2 รูปี(1.06 บาท) ให้โรงไฟฟ้า
          ดังนั้น สมมติว่าค่าไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาอยู่ที่ 4 รูปีต่อหน่วย (2.12 บาทต่อหน่วย) ซึ่งผู้ควบคุมระบบต้องจ่ายไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เข้าระบบ ในช่วง 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น ผู้ใช้ไฟฟ้ายังต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายหรือ capacity charge อีกกว่า 2 รูปีต่อหน่วย แม้ว่าขณะนั้นราคาเฉลี่ยของค่าไฟของเซลล์แสงอาทิตย์และพลังความร้อนจะเท่ากันก็ตาม ซึ่งนับเป็นต้นทุนที่เพิ่มเข้ามาจากการที่มีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์อยู่ในระบบ
ใครรับภาระต้นทุนส่วนเพิ่ม และพลังงานแสงอาทิตย์ควรมีสัดส่วนเท่าใด
          คำถามก็คือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมานี้จะมีใครเป็นผู้รับภาระ หากในระบบมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ร้อยละ 5 การผลิตไฟฟ้า 1 หน่วย จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 ไพซ์ (100 ไพซ์ เท่ากับ 1 รูปี) และไฟฟ้าที่ขายจะมีราคาประมาณ 15 ไพซ์ ต่อ 1 หน่วย หากหน่วยงานกำกับด้านพลังงานตัดสินใจให้ผู้ใช้ไฟที่มีรายได้สูง ซึ่งใช้ไฟฟ้ารวมกันมากกว่าร้อยละ 50 เป็นผู้รับภาระ ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยที่พวกเขาต้องจ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30 ไพซ์ต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นราคาที่ต้องจ่ายให้กับพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ และเป็นปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณากำหนดนโยบายด้านพลังงาน ว่าควรจะสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์เพียงใด ในทิศทางใด
แปลและเรียบเรียง : สุภร เหลืองกำจร
ที่มา http://blogs.timesofindia.indiatimes.com/voices/the-real-cost-of-solar-power/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น